8 วิธีปรับโครงสร้างหนี้ที่คนที่มีหนี้ต้องรู้

หนี้บัตรเครดิต 3

การปรับโครงสร้างหนี้เป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ที่เป็นหนี้สามารถดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ได้สนับสนุนให้ลูกหนี้และสถาบันการเงินร่วมมือกันในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และหาทางออกร่วมกัน ลดโอกาสที่ลูกหนี้ดีจะกลายเป็นลูกหนี้เสีย

อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

ควรปรับโครงสร้างหนี้เมื่อไหร่

1. ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย เมื่อคิดว่าเริ่มจะผ่อนไม่ไหว ให้รีบติดต่อสถาบันการเงิน จะได้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต

2. หากเป็นหนี้เสียแล้ว ก็สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมและผ่อนไหวได้

3. เตรียมตัวก่อนเข้าไปเจรจา คิดไว้คร่าว ๆ ว่าแนวทางปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนที่เหมาะกับเรา

8 วิธีปรับโครงสร้างหนี้ เลือกแบบไหนดี

1. ยืดหนี้

การยืดหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ นิยมใช้กันมากที่สุดเพื่อช่วยให้ภาระการผ่อนสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง เช่น สินเชื่อระยะเวลาผ่อน 10 ปี ผ่อนมาแล้ว 6 ปี เหลือ 4 ปี
เริ่มผ่อนไม่ไหวจะขอขยายให้ยาวออกไป เพื่อทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนปรับลดลง
 
สถาบันการเงินอาจพิจารณาอายุตัวของผู้กู้ประกอบด้วย ซึ่งในอดีตค่าเฉลี่ยของระยะเวลาผ่อนชำระหลังจากที่ปรับโครงสร้างหนี้อยู่ที่ประมาณ 8 ปี

2. พักชำระเงิน

ช่วยลดภาระการผ่อนชั่วคราว โดยปกติค่างวดที่ผ่อนชำระประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เงินต้นกับดอกเบี้ย เช่น เดิมสัญญาเงินกู้กำหนดค่าผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน
เดือนละ 20,000 บาท ประกอบด้วยเงินต้น 8,000 บาท และดอกเบี้ย 12,000 บาท การพักชำระเงินต้นจะทำให้ค่างวดเหลือเพียง 12,000 บาท 
แต่การผ่อนแบบนี้ เงินต้นจะไม่ลดลงในช่วงพัก จะส่งผลให้ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ขึ้นในช่วงท้ายสัญญา (balloon) หรือทำให้ต้องเป็นหนี้และแบกภาระดอกเบี้ยนานขึ้น
 
สถาบันการเงินอาจพิจารณาพักชำระเงินต้น เป็นเวลา 3-6 เดือน แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ลูกหนี้อาจนำเงินก้อนมา “โปะ” เพื่อลดหนี้ก่อนถึงกำหนดตามสัญญา
ซึ่งจะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายมีจำนวนลดลง และหนี้หมดเร็วขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ก็ได้รณรงค์ปรับปรุงเรื่องการชำระหนี้ก่อนครบกำหนด (prepayment)
ให้มีการปฏิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้นด้วย

3. ลดอัตรดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ทำให้ค่างวดที่จ่ายแต่ละเดือนแบ่งไปตัดลดเงินต้นได้มากขึ้น และเมื่อเงินต้นลด ภาระดอกเบี้ยก็จะลดลง เช่น เรากู้ยืมโดยมีอัตราดอกเบี้ย MOR+2% ต่อปี
ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ยเดิมไม่ไหว สามารถยื่นเรื่องขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลง
 
สถาบันการเงินพิจารณาลดให้หรือไม่ ดูจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนของสถาบันการเงินประวัติการผ่อนชำระของลูกหนี้ ประเภทสินเชื่อ และหลักประกัน เป็นต้น

4. ยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้

เมื่อต้นปี 2563 ธปท. ได้ประกาศให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยปรับบนฐานของงวดที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และให้ความสำคัญ
กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้ว

สถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับได้ แต่ต้องไม่เป็นภาระแก่ลูกหนี้จนเกินสมควร หรือเป็นเหตุที่ทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นมากจนชำระไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสียในเวลาต่อมา

ตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระบนฐานเงินต้น
ของค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ (ทุกงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ)

ลูกหนี้กู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 8% ต่อปี ผ่อนชำระ 20 ปี โดยมีค่างวดงวดละ 42,000 บาท และกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระจะคิดดอกเบี้ยสูงสุด 15% ต่อปี
เมื่อลูกหนี้ชำระค่างวดไปแล้ว 24 งวด ลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระงวดที่ 25 ซึ่งค่างวดงวดที่ 25 ประกอบด้วย เงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ย 32,000 บาท
ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้โดยคำนวณบนค่างวดส่วนที่เป็นเงินต้นจำนวน 10,000 บาท

8 ways to restructure debt that people with debt must know 03

5. เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

ในภาวะที่เหตุการณ์ในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง เงินทุนหมุนเวียน (working capital: WC) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจในยามที่ลำบาก
ให้มีโอกาสฟื้นกลับอย่างรวดเร็วได้ในภายหลัง ธปท. จึงสนับสนุนให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ WC ใหม่แก่กิจการที่มีศักยภาพ โดยแยกการจัดชั้นสินเชื่อ WC นี้ออกจากสินเชื่ออื่น
ซึ่งอาจจะเป็น NPL ไปแล้ว ช่วยให้กิจการยังมีบัญชีสินเชื่อสถานะปกติไว้ใช้งานได้

ผู้กู้ควรเตรียมเหตุผลและประมาณการรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะ 6–12 เดือนข้างหน้า อาทิ ค่าจ้างพนักงาน ค่าซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้า รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดำเนินงาน
เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเช่าสำนักงาน เป็นต้น เพื่อให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณาวงเงิน

สถาบันการเงินจะพิจารณาจากประวัติการผ่อนชำระ เช่น 1 ปีที่ผ่านมาลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นจำนวนเท่าใด วงเงิน WC ที่ขอเพิ่มเติมคิดเป็นสัดส่วนเท่าใด
ของภาระหนี้รวม เป็นต้น

6. เปลี่ยนประเภทหนี้

หนี้ที่อัตราดอกเบี้ยแพงควรถูกเปลี่ยนประเภทเป็นหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยถูกลง เช่น ลูกหนี้ SMEs ใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยสูง 18% และ 28%
หรือลูกหนี้มีวงเงิน O/D ใช้วงเงินเต็ม

สถาบันการเงินอาจพิจารณาเปลี่ยนจากสินเชื่อหมุนเวียนที่อัตราดอกเบี้ยแพงเหล่านี้ ไปเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระ (term loan) ที่ดอกเบี้ยถูกลง

8 ways to restructure debt that people with debt must know 02

สินเชื่อ OD คืออะไร

สินเชื่อ OD คืออะไร ทำไมคนทำธุรกิจควรรู้จัก

7. ปิดจบด้วยเงินก้อน

หากพอมีความสามารถหาเงินก้อนได้จำนวนหนึ่ง เช่น จากเงินออม จากการยืมญาติมิตร หรือจากการขายทรัพย์สิน ถึงแม้จะไม่มากเท่ายอดหนี้ที่มีอยู่
แต่ก็สามารถเจรจาขอส่วนลดให้เพียงพอต่อการปิดหนี้จบทั้งบัญชีได้ ซึ่งจะทำให้หมดภาระค่างวดรายเดือนไปอีกหนึ่งก้อน

สถาบันการเงินอาจกำหนดให้ชำระเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ 6 เดือน หรือเพียง 1-2 งวด อย่างไรก็ดี การเจรจาขอปิดจบโดยมีส่วนลดจะทำได้ค่อนข้างยาก
ในกรณีที่มีหลักประกันมูลค่าสูงกว่ายอดหนี้

8. รีไฟแนนซ์ (refinance)

คือการปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิมและย้ายไปใช้สินเชื่อของเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง โดยนำหนี้ใหม่ไปชำระหนี้เดิมที่คงค้างอยู่ก่อน ในประเทศไทยอาจคุ้นเคย
กับการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านและสินเชื่อธุรกิจที่มีหลักประกันอยู่ระดับหนึ่งแล้ว

8 ways to restructure debt that people with debt must know 04

อัปเดตดอกเบี้ยสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

อัปเดตอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านจากหลายธนาคาร

อย่างไรก็ดี ธปท. ได้เริ่มสนับสนุนให้เกิดตลาดรีไฟแนนซ์สำหรับหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล (หนี้บัตร) โดยเมื่อต้นปี 2563 มีสถาบันการเงินเปิดตัวเข้ามานำเสนอ
ผลิตภัณฑ์รีไฟแนนซ์หนี้บัตรเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารออมสิน ซึ่งรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรสำหรับลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงินและประวัติการชำระดี

แนวทางการชําระหนี้เพื่อลดหนี้เสียและลดภาระหนี้ของประชาชน

ธปท. ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงิน
แก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ

1. คิดดอกเบี้ยผิดนัดชําาระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น

การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้
เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ย
ผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564

8 ways to restructure debt that people with debt must know 05

ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี (240 งวด) จ่ายชำระปกติมา 2 ปี (24 งวด) งวดที่ 25 ที่ต้องจ่าย 42,000 บาท (เงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ย 32,000 บาท) เกิดติดขัดผ่อนไม่ไหว

เดิม แม้ผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดจาก “ฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด”

กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี งวดละ 42,000 บาท
หากผิดนัดชำระหนี้ในงวดที่ 25 ตั้งแต่งวดที่ 25-240 ยอดหนี้คงเหลือรวม 4.77 ล้านบาท
คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐาน 4.77 ล้านบาท

ใหม่ การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดจาก “ฐานเงินต้นของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงเท่านั้น” ไม่รวมงวดในอนาครที่ยังมาไม่ถึง

กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี งวดละ 42,000 บาท (แบ่งเป็น เงินต้น จำนวน 10,000 บาท ดอกเบี้ยในงวดที่ 25 จำนวน 32,000 บาท)
หากผิดนัดชำระหนี้ในงวดที่ 25 คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐาน 10,000 บาท

2. อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%

8 ways to restructure debt that people with debt must know 06

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย
ผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย

ต่างจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15%
หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ (affordability risk) ได้

8 ways to restructure debt that people with debt must know 07

ถ้าเปรียบเทียบแนวปฏิบัติที่ผ่านมากับแนวใหม่ที่ได้ปรับปรุงเรื่องฐานและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเห็นว่า ดอกเบี้ยผิดนัดส่วนเพิ่มแบบเดิมสูงถึง 27,443.84 บาท
ในขณะที่แบบใหม่ลดลงเหลือเพียงแค่ 8.22 บาท ดูเผิด ๆ อาจน้อย แต่ถ้าดูในรายละเอียดจะเห็นว่าลูกหนี้ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาอีก 32,000 บาท รวมเป็น 32,008.22 บาท
ในขณะที่แบบเดิมมีจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงถึง 59,443.84 บาท

ดังนั้น การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น
การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

3. ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก

การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้
เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน

ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น
ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL
รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

8 ways to restructure debt that people with debt must know 08

ตัวอย่างลำดับการตัดชำระหนี้แบบแนวนอน โดยตัดงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน

ถ้าลูกหนี้มีค่างวดที่ต้องจ่ายเดือนละ 10,300 บาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ลูกหนี้ค้างชำระ 3 เดือน รวม 30,900 บาท
เดือนที่ 4 เริ่มพอที่จะหาเงินได้กลับมาจ่าย 10,300 บาท

เดิม ตัดชำระหนี้แบบแนวตั้ง จะตัดค่าธรรมเนียม 900 บาทก่อน ส่วนที่เหลืออีก 9,400 บาท นำไปตัดดอกเบี้ยค้าง ซึ่งสามารถตัดชำระได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
เพราะดอกเบี้ยค้าง 3 งวดรวม 12,000 บาท ทำให้งวดที่ 4 แม้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้เข้ามา 10,300 บาท เงินที่จ่ายเข้ามาจะไม่สามารถตัดถึงส่วนเงินต้นได้เลย

ใหม่ ตัดชำระหนี้แบบแนวนอน เงิน 10,300 บาท จะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดที่ 1 ก่อนจนครบ และจะทำให้มียอดค้างเหลือเพียง 2 งวด

เกณฑ์การตัดชำระหนี้ข้างต้นมีผลกับทุกสถาบันการเงิน เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากพบความไม่เป็นธรรมในการตัดชำระหนี้
สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือโทร. 1213

ธ.ออมสิน ให้กู้เงินแก้หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อเดือน

ธนาคารออมสินเปิดโครงการธนาคารเพื่อประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ ให้กู้เงิน 50,000 บาท พร้อมข้อเสนอพิเศษ ดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อเดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้

จุดประสงค์การกู้ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดจากการประกอบอาชีพ หรือการอุปโภค บริโภค แต่ต้องไม่เป็นการนำไปชำระ (Re-Finance) หนี้ในระบบ

วงเงินกู้ ให้กู้ตามมูลหนี้นอกระบบจริง และตามความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท

อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 1% ต่อเดือน

ค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อสัญญา

ระยะเวลาการชำระ ชำระคืนในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี

คุณสมบัติ

  • เป็นผู้ที่มีการประกอบอาชีพ มีรายได้
  • สัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เมื่อรวมอายุของผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 65 ปี
  • มีถิ่นที่อยู่แน่นอน มีสถานที่ประกอบอาชีพ สามารถติดต่อได้
  • เป็นผู้ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ (นร.1) สามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ขอกู้จากธนาคาร

เอกสารประกอบการขอกู้

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้ และผู้ค้ำประกัน
  • เอกสารแสดงรายได้ในการประกอบอาชีพ สมุดบัญชีเงินฝาก สลิปเงินเดือน (ถ้ามี)
  • เอกสารรายรับ/รายจ่าย (ถ้ามี)
  • รูปถ่ายสถานที่ประกอบอาชีพ
  • กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นำสำเนาหลักทรัพย์ที่จะค้ำประกันไปด้วย

ติดต่อและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ธนาคารออมสิน

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

แชร์บทความนี้

บทความอื่นๆ

waist up serious looking confident determined asian brunette woman demanding stop show cross arms frowning sulking warn give strong refusal decline hideous offer prohibiting taboo white wall
แก้หนี้

เป็นหนี้ แต่ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ร้ายแรงกว่าที่คิด by Good Money

เป็นหนี้ แต่ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ร้ายแรงกว่าที่คิด หลายคนที่มีการกู้หนี้ยืมสินจำนวนมาก มักจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดเวลา เนื่องจากปัญหาการหมุนเงินไม่ทัน ในช่วงแรกอาจมีการยืมเงินมาปิดหนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานะการเงินเริ่มไม่มั่นคง จนในที่สุดก็หยุดการชำระหนี้ โดยไม่รู้เลยว่าผลกระทบจากการหยุดชำระหนี้จะส่งผลอย่างไรบ้างในอนาคต

อ่านต่อ